วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มาทำความรู้จักท่อร้อยสายไฟกันเถอะ

มาทำความรู้จักท่อร้อยสายไฟกันเถอะ 

ในการเดินสายไฟฟ้านั้น ถึงแม้ว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟฟ้า จะมีความแข็งแรงทนทานพอสมควร แต่ว่ามันก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะทนต่อแรงกระแทกต่างๆ จากภายนอกได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันสายไฟฟ้า ไม่ให้ได้รับความเสียหายและสามารถใช้งานได้ยาวนาน ในปัจจุบันจึงนิยมที่จะเดินสายในท่อร้อยสายไฟ

------------------------------------------------------

ประโยชน์ของการใช้ท่อสายไฟ มีดังนี้

1) ป้องกันสายไฟฟ้าจากความเสียหายทางกายภาพ เช่น การถูกกระทบกระแทกจากของมีคม หรือถูสารเคมีต่างๆ

2) ป้องกันอันตรายกับคนที่อาจจะไปแตะถูกสายไฟฟ้า เมื่อฉนวนของมันเสียหาย หรือมีการเสื่อมสภาพ

3) สะดวกต่อการร้อยสาย และเปลี่ยนสายไฟฟ้าสายใหม่ เมื่อสายหมดอายุการใช้งาน

4) ท่อหรือรางสายไฟที่เป็นโลหะ จะต้องมีการต่อลงดิน ดังนั้น จะเป็นการป้องกันไฟฟ้าซ๊อตได้

5) สามารถป้องกันไฟไหม้ได้ เนื่องจากถ้าเกิดการลัดวงจรภายในท่อ ประกายไฟ หรือความร้อนจะถูกจำกัดอยู่ภายในท่อ

------------------------------------------------------

ท่อหรือรางสายไฟ ที่เรียกว่า Raceways นั้น คือ อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อกลมหรือช่องสี่เหลี่ยมผิวในเรียบใช้ในการเดินสายไฟฟ้าโดยเฉพาะ เช่น ท่อร้อยสายไฟที่เป็นโลหะ(RSC, IMC, EMT Conduit), ท่ออโลหะ (PVC, HDPE Pipe) และ รางเดินสาย (Wire way , PVC Duct) และรวมถึงท่อร้อยสายไฟแบบอ่อนที่ด้วย (Flexible conduit)

*** แต่ในบทความนี้จะนำเสนอแค่ท่อร้อยสายไฟที่ทำมาจากเหล็กเท่านั้นก่อนนะครับ ***

------------------------------------------------------

1. ท่อโลหะหนา (Rigid Steel Conduit : RSC)

ท่อโลหะหนา หรือ ท่อ RSC เป็นท่อที่มีความแข็งแรงที่สุด สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี ท่อชนิดนี้ถ้าทำมาจากเหล็กกล้า และส่วนใหญ่จะผ่านขบวนการชุบด้วยสังกะสี (Galvanized) ซึ่งจะช่วยป้องกันสนิมได้อย่างดี

- สถานที่ใช้งาน : ใช้ได้ทั้งภายในภายนอกอาคาร ฝังผนัง ฝังใต้พื้น เดินลอยได้สามารถฝังดินได้ การต่อท่อจะใช้วิธีทำเกลียวเท่านั้น

- ขนาดมาตรฐาน : ½”, ¾”, 1”,1 ¼”, 1 ½”, 2”, 2 ½”, 3”, 3 ½”, 4”, 5” และ 6” (นิ้ว) โดยมีความยาวท่อนละ 3 เมตร

- ข้อสังเกตตัวอักษรที่อยู่บนท่อมักจะเป็นสีดำ

------------------------------------------------------

2. ท่อโลหะหนาปานกลาง (Intermediate Metal Conduit : IMC)

ท่อโลหะหนาปานกลาง หรือ ท่อ IMC เป็นท่อที่มีความหนา น้อยกว่าท่อ RSC แต่สามารถใช้แทนท่อ RSC ได้ และมีราคาถูกกว่า

- สถานที่ใช้งาน : ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ฝังผนัง ฝังใต้พื้น เดินลอยได้ ใช้งานได้เหมือนท่อ RSC แต่ความสามารถในการรับแรงกระทำทางกลน้อยกว่าจึงไม่ควรใช้ฝังใต้ถนนหรือจุดที่ต้องรับแรงกดแรงบิดสูง

- ขนาดมาตรฐาน : ½”, ¾”, 1”,1 ¼”, 1 ½”, 2”, 2 ½”, 3”, 3 ½” และ 4” (นิ้ว) โดยมีความยาวท่อนละ 3 เมตร

- ข้อสังเกตตัวอักษรที่อยู่บนท่อมักจะเป็นสีแดง

------------------------------------------------------

3. ท่อโลหะบาง (Electrical Metallic Tubing : EMT)

ท่อโลหะบาง หรือ ท่อ EMT เป็นท่อที่มีความหนา น้อยกว่าท่อ RSC และ ท่อ IMC ท่อร้อยสายไฟฟ้าชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมากเพราะราคาต่ำกว่าสองชนิดข้างบนแต่ในการใช้งานนั้นนอกจากจะคำนึงถึงต้นทุนแล้วต้องคำนึงถึงสภาพการใช้งานของท่อร้อยสายไฟฟ้าต้องเหมาะสม

- สถานที่ใช้งาน : สามารถฝังผนังอิฐก่อหรือฉาบปูนได้แต่ห้ามฝังในผนังแบบหล่อ (ผนังคอนกรีตที่มีการขึ้นแบบแล้วเทคอนกรีตลงในแบบ ), ห้ามใช้ท่อชนิดนี้ฝังดิน, ห้ามใช้กับไฟฟ้าแรงสูง และ ห้ามทำเกลียวกับท่อชนิดนี้ให้ต่อด้วยคัปปริงหรือคอนเนคเตอร์

- ขนาดมาตรฐาน : ½”, ¾”, 1”, 1 ¼”, 1 ½” และ 2”(นิ้ว) โดยมีความยาวท่อนละ 3 เมตร

- ข้อสังเกตตัวอักษรที่อยู่บนท่อมักจะเป็นสีเขียวหรือสีฟ้า

------------------------------------------------------

4. ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit : FMC)

ท่อโลหะอ่อนทำมาจากเหล็กกล้าชุบสังกะสี ในลักษณะที่มีความอ่อนตัวสูง สามารถโค้งงอได้ (ภาษาช่างทั่วๆไปเรียกท่อเฟลก) มีทั้งแบบที่ใช้ภายในอาคารและภายนอกอาคาร

- ท่อโลหะอ่อน ใช้เดินในสถานที่แห้งและเข้าถึงได้ ห้ามใช้เดินในสถานที่เปียก , ในช่องขึ้นลง , ในห้องเก็บแบตเตอรี่ , ในสถานที่อันตราย , ฝังดินหรือฝังในคอนกรีต ท่อโลหะอ่อนที่ใช้ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 1/2" ยกเว้นท่อโลหะอ่อนที่ประกอบมากับขั้วหลอดไฟฟ้า และมีความยาวไม่เกิน 180 เซนติเมตร การจับยึดท่อชนิดนี้ต้องมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่เกิน 1.50 เมตร และห่างจากกล่องต่อสาย ไม่เกิน 30 เซนติเมตร และห้ามใช้ท่อโลหะอ่อนเป็นตัวนำ แทนสายดิน

- ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ เป็นท่อโลหะอ่อนที่มีเปลือก PVC หุ้มด้านนอกเพื่อกันความชื้น ไม่ให้เข้าไปภายในท่อได้ ใช้งานในบริเวณที่ต้องการความอ่อนตัวของท่อเพื่อป้องกันสายไฟฟ้า ชำรุด จากไอของเหลวหรือของแข็งหรือในที่อันตราย ห้ามใช้ในบริเวณที่อุณหภูมิใช้งานของสายไฟฟ้าสูงมากจนทำให้ท่อเสียหาย


- ขนาดมาตรฐาน : ½”, ¾”, 1”,1 ¼”, 1 ½”, 2”, 2 ½”,3” และ 4 ” (นิ้ว) โดยมีความยาวตั้งแต่ 10 - 200 เมตรต่อขด ขึ้นอยู่กับขนาดท่อ



1 ความคิดเห็น: