วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วาง sleeve ไม่ใช่วาง sleep นะจ๊ะ

วาง Sleeve ไม่ใช่วาง Sleep
วันแรกขอการทำงานภาคสนาม ลูกพี่บอกว่าเดี๋ยวจะพาไปวางสลีฟ เราก็สงสัยอะไรคือ างสลีฟ หรือว่าชวนเราไปนอน...งง...งง...งง
การวาง Sleeve คือ การางท่อ PVC ในคานคอนกรีต ก่อนที่จะมีการเทปูน เพื่อเป็นช่องสำหรับเดินท่อร้อยสายไฟ โดยไม่ต้องทำการดัดท่อหักหลบคาน(หักคอม้า)
-----------------------------------------------------------
การวาง Sleeve หรือ Block Out ผ่านคาน
ในการจัดทำ Combined Drawing บางบริเวณอาจเกิดความยุ่งยากในการจัดแนวท่อน้ำ, ท่อลม, ท่อร้อยสายไฟฟ้า รวมถึง Wireway เนื่องจากมีข้อกำจัดในด้านความสูงของพื้นที่ใช้สอย เช่น บริเวณที่จอดรถ, บริเวณห้องเครื่อง, บริเวณห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งบริเวณสำนักงาน
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอาจดำเนินการได้หลายวิธี ทั้งการเปลี่ยนขนาดท่อลม, การทำ Offset หลบหลีกซึ่งกันและกัน และสุดท้ายหากไม่มีวิธีการอื่น ก็ต้องขอให้ทางสถาปนิกพิจารณาลดระดับฝ้าเพดาน ซึ่งอาจได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือไม่ก็ติดตั้งงานระบบดังกล่าวอย่างเบียดเสียดยัดเยียดจนแน่นไปหมด เป็นเหตุให้อาจเกิดปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์หรือเครื่องจักรเพื่อทำการบำรุงรักษา
วิธีการหนึ่งที่อยากจะแนะนำให้ดำเนินการ คือ ขอให้ตรวจแบบงานโครงสร้างว่าในบริเวณดังกล่าวเป็นระบบพื้นและคานหรือไม่ ? หากเป็นระบบพื้นและคานที่มีความลึกของคานตั้งแต่ 400 มิลลิเมตร (16 นิ้ว) ขึ้นไปเราอาจใช้วิธีการวาง Sleeve หรือ Block Out ผ่านคานเพื่อติดตั้งท่อน้ำ, ท่อลม, ท่อร้อยสายไฟฟ้า และ Wireway ขนาดที่เหมาะสมผ่านได้ เพื่อจะได้ลดความแออัดของบริเวณใต้คาน, การติดตั้งท่อ Offset และสามารถเพิ่มความสูงของพื้นที่ใช้สอยได้
อย่างไรก็ตามในการดำเนินการดังกล่าว ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมาควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. ต้องศึกษาแบบทั้งงานโครงสร้างและงานระบบแต่เนิ่นๆ เพื่อพิจารณากำหนดงานท่อต่างๆ ที่จะให้ผ่านคานดังกล่าว ก่อนที่ผู้รับเหมางานโครงสร้างจะทำการก่อสร้างงานในบริเวณนั้นๆ
2. ต้องปรึกษาและขออนุมัติจากผู้ออกแบบงานโครงสร้างถึงความเป็นไปได้ในการวาง Sleeve หรือ Block Out ผ่านคาน ทั้งในเรื่องขนาด และจำนวนที่จะวางในคานแต่ละตัว รวมทั้งการเสริมเหล็กโครงสร้าง
3. โดยทั่วไปการวาง Sleeve หรือ Block Out ผ่านคานจะวางในบริเวณกึ่งกลางคาน เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีเหล็กโครงสร้างน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
4. หากเป็นไปได้ควรผ่าน Sleeve เป็น Spare จำนวนหนึ่ง เพื่ออาจจะสามารถใช้ในอนาคตได้
5. งานที่ควรพิจารณาให้ติดตั้งผ่านคาน ได้แก่
o ท่อน้ำระบบต่างๆ ได้แก่
- ระบบป้องกันเพลิงไหม้
- ระบบสุขาภิบาล (แต่ถ้าเป็นท่อระบายน้ำทิ้งควรระวังเรื่อง Slope ด้วย
o ท่อร้อยสายไฟฟ้า
o Wireway ขนาดเล็ก
6. ขนาดของ Sleeve หรือ Block Out ที่วางควรกำหนดให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือความสูงที่มากที่สุด ซึ่งต้องกำหนดโดยผู้ออกแบบงานโครงสร้าง

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือการติดตั้งระบบสายดิน

คู่มือการติดตั้งระบบสายดิน

ว่าด้วยเรื่องของ Safe T Cut

• ว่าด้วยเรื่องของ Safe-T-Cut

- มีหลายๆ คนถามผมมาเกี่ยวกับเรื่องของ safe t cut ว่าจะติดดีไม่ดี ติดอย่างอื่นได้ไหม ไม่ติดจะเป็นอะไรไหม แล้ว safe t cut ต่างจาก breaker ยังงัย เอาเป็นว่าวันนี้ผมจะมาไขข้อข้องใจให้กระจ่างกันซะทีเดียวเลยดีกว่าครับ ทั้งเรื่องของเซฟทีคัท, เบรกเกอร์, สายดินและอุปกรณ์อื่นๆ

- แต่ก่อนจะไปเรื่องของ เซฟทีคัท ผมต้องขออนุญาตินำท่านเข้าสู่และเข้าใจเรื่องของไฟ ไฟ ก่อนนะครับ
ทุกคนคงเคยได้ยินศัพท์เหล่านี้มาแต่อ้อนแต่ออกใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดูด ไฟรั่ว ไฟเกิน ไฟช๊อต ไฟลัดวงจร แต่หลายๆ คนก็คงแต่แค่ได้ยินคำพวกนี้ แต่ไม่รู้ว่าความหมายว่ามันหมายถึงอะไร รู้แต่เพียงว่าถ้าเกิดแก่เราแล้ว…บรรลัยเกิด ซี้แหง๋แก๋แน่นอนเท่านั้นเองใช่ไหมครับ

* ในบรรดาศัพท์ที่เกี่ยวกับความบรรลัยทางไฟฟ้าข้างต้นที่ว่ามานั้น ผมขอแยกออกเป็นสองประเภทเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ ก็คือ
1) กระแสไฟในสายไฟมีสูงมากเกิน (อันได้แก่ ไฟช๊อต ไฟเกิน ไฟลัดวงจร ครับ) และ
2) กระแสไฟฟ้ารั่วหายไปจากสายไฟ (อันได้แก่ ไฟรั่ว ไฟดูด ครับ)

- เรามาขยายความต่อดีกว่าครับว่าไอ้ “กระแสไฟฟ้าในสายไฟมีสูงมากเกิน” หมายความว่าอย่างไร และเกิดได้อย่างไรกันครับ

- ลองนึกภาพตามก่อนแบบนี้นะครับ ตอนเรียนวิทยาศาสตร์สมัยเด็กๆ เราเอาสายไฟจิ้มไปที่หลอดไฟข้างหนึ่ง อีกสายหนึ่งก็ออกจากตูดหลอดไฟ กระแสไฟวิ่งเข้าหลอดแล้วก็ออกหลอด หลอดไฟก็สว่างขึ้นมา
หลอดไฟในที่นี้ก็คือความต้านทานชนิดหนึ่งครับ ถ้าจะพูดภาษาวิทย์แบบชาวบ้านๆ ก็คือ มีกระแสไฟวิ่งผ่านตัวต้านทาน ตัวต้านทานก็เกิดปฏิกิริยา เกิดการทำงาน (เช่นหลอดสว่าง เตารีดร้อน มอเตอร์หมุน อะไรก็แล้วแต่)

- ทีนี้ถ้าเราจับปลายสายไฟมาชนกันโดยไม่มีตัวต้านทานมากั้นกลางละครับ จะเกิดอะไรขึ้น…’ไฟก็วิ่งจากสายเข้าสายหนึ่ง ไปออกอีกสายหนึ่งงัย”…ไม่ใช่ครับ มันไม่ง่ายอย่างนั้นนะซิครับ

* ผมจะลองมาทบทวนบทเรียนสมัยเด็กๆ ให้ฟังอีกทีแล้วกันนะครับ
พูดภาษาวิทย์ก็คือ “เมื่อมีความต่างศักดิ์เกิดระหว่างตัวต้านทาน ก็จะเกิดกระแสไฟวิ่ง” (เกิดการทำงานตามมา เช่นหลอดสว่าง เตารีดร้อน มอเตอร์หมุน อะไรก็แล้วแต่)
เป็นไปตามสูตรที่ว่า ความต่างศักดิ์ = กระแสไฟ x ความต้านทาน (V=IxR)
(จริงๆ เป็นสมการของไฟฟ้ากระแสตรงนะครับ ส่วนไฟบ้านที่ใช้กันเป็นไฟกระแสสลับครับ)

* แต่เอาเป็นว่าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ลองใส่ค่าลงไปในสูตรแบบนี้ดูครับ
ไฟบ้านความต่างศักดิ์ 220 โวลท์ หลอดไฟมีความต้านทาน 440 โอห์ม กระแสไฟที่ผ่านเท่าไหร่ครับ ก็เท่ากับ 220/440 = 0.5 แอมป์

* ทีนี้พอเราหยิบเอาปลายสายไฟสองฝั่งมาชนกัน ก็เสมือนกับว่า มีความต่างศักดิ์ที่ยังเท่าเดิม แต่คราวนี้ไม่มีตัวต้านทานแล้ว (ตัวต้านทานเป็น 0) กระแสเป็นเท่าไหร่ครับ ก็เท่ากับ 220/0 = อนันต์
นั่นกำลังหมายความว่า เพียงเสี้ยววินาทีมีกระแสไฟฟ้าวิ่งสูงมากในสายไฟ สิ่งที่เราเห็นตามมาก็คือไฟสปาร์คเปรี๊ยะๆ นั่นเองครับ ถ้าเทียบว่าการที่สายไฟสองเส้นถูกหนูกัดขาดหรือฉนวนเสื่อมสภาพ แล้วมาแตะโดนกัน มันก็คือการทำให้เกิดกระแสที่พุ่งสูงเกิน หรือไฟลัดวงจรนั่นเอง (ไฟจากสายไฟเข้าลัดมาออกที่สายไฟออกก่อนที่จะไปถึงหลอดไฟ)

* จากเหตุการณ์ข้างต้น เกิดศัพท์ขึ้นก็คือ
ไฟช๊อต (การที่ไฟสปาร์คเปรี๊ยะๆ)
ไฟเกิน (ก็คือกระแสไฟวิ่งในสายไฟมากเกิน)
ไฟลัดวงจร (ไฟจากสายไฟเข้าลัดมาออกที่สายไฟออกก่อนที่จะไปถึงตัวต้านทาน)

* พอเข้าใจบ้างไหมครับเกี่ยวกับ “กระแสไฟฟ้าในสายไฟมีสูงมากเกิน”

- ทีนี้เมื่อไฟเกินมากๆ นานๆ เกิดอะไรครับ ก็สายไฟก็ร้อนนะซีครับ ถ้าร้อนจนขนาดฉนวนสายไฟละลาย ไฟก็ลัดวงจรกันไปใหญ่สปาร์คกันไป หรือถ้าร้อนมากไปติดเชื้อไฟก็อาจเกิดตามมาด้วยไฟไหม้บ้านได้ยังไงละครับจากเหตุการณ์ข้างต้น ถ้าไม่อยากให้เกิดไฟเกิน จะทำยังงัยดีละครับ…เราก็ติดอุปกรณ์กันไฟเกินซิครับ

* สมัยก่อนก็ที่ใช้กันที่เรียกกันว่าฟิวส์งัยครับ พอไฟเกินปั๊บ ฟิวส์เองก็รับกระแสไฟไม่ไหว ฟิวส์ก็ขาด วงจรไฟฟ้าก็ตัดขาดไปโดยปริยาย เสร็จแล้วไปซื้อฟิวส์อันใหม่มาเปลี่ยน ปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นเสมือนฟิวส์อัตโนมัติ (ภาษาผมเองนะครับ) ควบคู่อยู่ในตัวเบรคเกอร์ พอเกิดไฟเกินในวงจร เบรกเกอร์ตรวจจับได้ก็สับตัวเองทันที…ก็รอดไป พอแก้ไขเสร็จก็ไปสับเบรกเกอร์ขึ้นใหม่ ใช้งานได้ตามเดิมสบายใจเฉิบ (นอกเรื่องนิดนึงครับ เบรคเกอร์ก็คือสะพานไฟ (Cut-out) ทำหน้าที่ตัดไฟ)

- เรามาดูต่อว่าแล้วเจ้า “ไฟฟ้ารั่วหายไปจากสายไฟ” หมายความได้ว่าอย่างไรครับ
ผมขอเริ่มอธิบายแบบชาวบ้านๆ อย่างนี้แล้วกันครับ กระแสไฟฟ้าที่วิ่งเข้ามาในบ้านก็กลับออกไปจากบ้าน กระแสทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกต้องเท่ากันครับ

* สมมติว่าตู้เย็นของเราเสื่อมสภาพสายไฟภายในโดนหนูแทะฉนวนขาดแล้วบังเอิญมาแตะโครงตู้เย็นเข้า ตอนนี้ยังไม่เกิดอะไรครับ เพราะไฟจากนอกบ้าน วิ่งเข้ามาวนเวียนอยู่ในตู้เย็น (รวมถึงโครงตู้เย็น) แล้วก็วิ่งกลับออกไปนอกบ้าน กระแสเข้าบ้านออกบ้านเท่ากันครับ เมื่อไหร่ที่เราไปจับตู้เย็น กระแสไฟก็จะแบ่งมาลงที่ตัวเราแล้ววิ่งลงพื้นลงดินไป ทีนี้แหละครับกระแสที่วิ่งกลับไปออกนอกบ้านก็จะไม่เท่ากับตอนเข้ามาเพราะแบ่งลงตัวเราลงดินไปแล้ว (สมมติว่าไม่มีสายดิน)

- จากที่เล่ามาก็จะเกิดศัพท์ 2 ศัพท์ครับก็คือไฟรั่ว (สายไฟขาดมาแตะโครงตู้เย็น ไฟรั่วลงโครงตู้เย็น) และไฟดูด (กระแสไฟไหลลงตัวเราแล้วลงดิน) มาถึงตอนนี้พอเข้าใจขึ้นมาบ้างไหมครับ

* จากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นถ้าเราไม่อยากโดนไฟดูด เราจึงคิดเครื่องมือมาอันนึงเพื่อวัดความแตกต่างของกระแสไฟที่เข้าและออกจากบ้าน ถ้าไฟเข้าและออกต่างกันเจ้าเครื่องตัวนี้ก็จะตัดไฟในบ้านทั้งหมดทันที เจ้าเครื่องมือตัวนี้มียี้ห้อที่เราคุ้นหูก็คือ “เซฟทีคัท” นั่นเองครับ เจ้าเครื่องตัวนี้สามารถวัดความแตกต่างโดยปรับความแตกต่างได้ตั้งแต่ 5 มิลลิแอมป์ถึง 30 มิลลิแอมป์ (ทำไมต้องลิมิตที่ 30 มิลลิแอมป์ไว้มาว่ากันต่ออีกทีครับหรืออ่านได้ตามลิ้งค์นี้เลยครับ http://www.squarewa.com/2010/สาระน่ารู้เกี่ยวกับสายสาระน่ารู้เกี่ยวกับสาย/

* ดังนั้นเราติด safe t cut ไปทำไมคงจะพอตอบกันได้แล้วใช่ไหมครับ

- ความปวดเศียรเวียนเกล้าเกิดตอนนี้แหละครับ สมมติว่าเครื่องปรับอากาศเราเก่าแล้ว ฝุ่นจับไปหมด พอชื้นเข้าหน่อยโอกาสที่ไฟจะรั่วลงตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ภายในก็มีบ้างโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอกครับว่ามันเกิดไฟรั่ว แล้วถ้าเราตั้งไว้ให้มันจับความแตกต่างที่ 5 มิลลิแอมป์ เซฟทีคัทก็ช่างอ่อนไหว sensitive เสียนี่กระไร ตรวจจับเจอแล้วก็ทำการตัดไฟ(ทั้งบ้าน..เพราะคุมเมนเบรคเกอร์)

- เอ๊ะ! เดี๋ยวตัดๆ ตัดบ่อยๆ เข้าเราชักรำคาญ sensitive นักใช่ไหม ก็เลยไปปรับให้จับความแตกต่างเป็น 10…ก็ยังตัด…รำคาญ…ปรับอีกเป็น 15…ก็ยังตัด…รำคาญ…ปรับอีกเป็น 20…จนทีนี้เป็น 30 ก็ยังตัดอยู่ (แต่ถึงตอนนี้ เราเองก็ยังไม่รู้ว่ามีสาเหตุการตัดมาจากไฟรั่วที่แอร์เก่า) ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ทีนี้ก็เลยปรับไปเป็น bypass ไปซะเลย หรือก็คือต่อไฟเข้าบ้านโดยตรง ไม่ต้องผ่านเซฟทีคัทแล้ว โอเคครับคราวนี้ไฟในบ้านไม่ตัดแล้ว ไม่รำคาญแล้ว แต่ก็เสมือนว่าเราไม่ได้ติดเซฟทีคัท ไม่ได้ใช้งานมันอยู่ดี มาถึงตรงนี้ก็กลับไปสู่คำถามแรกยอดฮิตที่ว่า “ติดเซฟทีคัทดีหรือเปล่า” ถึงตรงนี้พอนึกภาพออกกันบ้างไหมครับ

- มาถึงตรงนี้ด้วยกิเลสของมนุษย์ก็แน่นอนครับว่าต้องมีคำถามที่ว่า “อยากติดอ่ะ แต่ไม่อยากให้ดับทั้งบ้าน มีทางแก้ไหมครับ”

- คำตอบก็คือว่า มีซิครับ พูดง่ายๆ ก็คือแทนที่จะติดควบคุมวัดความต่างของกระแสทั้งบ้านที่ Main Breaker ก็เลือกติดตัววัดความต่างกระแสที่ตัวควบคุมวงจรย่อย (แต่ละ Breaker) โดยเลือกเป็นวงจรไปที่มันมีความเสี่ยงกับการรั่วของไฟ เช่นเครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อน ปลั๊กไฟในห้องน้ำหรือปลั๊กไฟนอกบ้านที่สุ่มเสี่ยงกับการโดนดูด

- แต่อย่างที่ผมบอกเล่าไปข้างต้น เบรคเกอร์ก็คือสะพานไฟ (Cut-out) ทำหน้าที่ตัดไฟครับ เบรคเกอร์ไม่ได้ทำหน้าที่วัดความแตกต่างของกระแสไฟ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเปลี่ยนมาเป็นเบรกเกอร์ชนิดที่วัดความต่างกระแสไฟได้ในตัวด้วย (เบรคเกอร์แบบมีเซฟทีคัทในตัว) ที่เรียกว่า เบรกเกอร์ ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ ตัดเป็นแค่วงจรๆ ไป อ้อ…ตัว ELCB ก็จะกำหนดค่าความต่างไว้ตายตัวที่ 30 มิลลิแอมป์นะครับ

- อันที่จริงคำว่า “เบรคเกอร์แบบมีเซฟทีคัทในตัว” เป็นภาษาของผมเองนะครับ เพราะจริงๆ แล้วเจ้าเซฟทีคัทต่างหากที่ถือเป็น ELCB ชนิดหนึ่งครับ

- แต่โดยมาตราฐานแล้ว ถ้าเราใช้เครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อนที่ผ่านม.อ.ก. (ถ้าไม่ใช่จำพวกเครื่องจากจีนแดงอะไรเทือกนั้น) แล้วนั้นไซร้ ทุกเครื่องจะต้องติด ELCB ในตัวอยู่แล้วครับ (ก็คือไอ้ที่มีปุ่มบนตัวเครื่องให้เรากด TEST ตัวนั้นแหละครับ) ดังนั้นถ้าติด ELCB อีกที่ตู้เมน จะว่าไปก็ซ้ำซ้อนครับ




เครื่องตัดไฟรั่วทำงานอย่างไร

เครื่องตัดไฟรั่วทำงานอย่างไร ?

เครื่องตัดไฟรั่วมีหลายแบบ และมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกันแต่ก็จะมีหลักการทำงานที่คล้ายกัน เครื่องตัดไฟรั่ว อาจมีชื่อเรียกต่างกันเช่น 

- เครื่องตัดไฟเมื่อมีกระแสรั่วลงดิน 
- Earth Leakage Circuit Breaker (ELCB)
- Ground Fault Circuit Interrupter (GFCI)
- Residual Current Device (RCD)

เครื่องตัดไฟรั่ว ทำงานโดยการเปรียบเทียบกระแสไฟฟ้าระหว่างสายไฟ 2 สาย (L และ N) หรือกระแสไหลเข้า (L) กับกระแสไหลกลับ (N) ต้องมีค่าเท่ากัน หากมีกระแสรั่วออกจากระบบโดยผ่านสายดิน (G) หรือไหลผ่านตัวคนที่ไปสัมผัสอุปกรณ์ที่เกิดไฟรั่ว เครื่องจะตรวจสอบได้ทันที และปลดวงจรออกทันที

ในมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้าของประเทศไทยจะกำหนดค่าการตรวจจับกระแสไฟรั่วที่ไม่เกิน 30 มิลลิแอมป์ และจะต้องตัดวงจรภายใน 0.04 วินาที



อ่านเพิ่มเติม

กระดิ่งที่ใช้ในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

กระดิ่งที่ใช้ในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire alarm Bell)

ปกติจะใช้งานกับไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 24Vdc 
จึงควรระวังเรื่องแรงดันตกหากต้องเดินสายไกลเกิน 50 เมตร(โดยประมาณ)
จึงควรจะใช้สายขนาด 2.5 ตร.มม เพื่อให้ความดังของเสียงได้ตามมาตรฐาน
(ไม่น้อยกว่า 65dB และไม่เกิน 105dB ที่จุดใดๆ ตามมาตราฐาน วสท.)
และควรเป็นทนไฟ เพื่อแจ้งเหตุได้ต่อเนื่องประมาณ 2 ชม. ในกรณีเกิดเพลงไหม้ครับ


สายทนไฟที่ใช้กับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

สายทนไฟที่ใช้กับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้
(Fire resistance cable for Fire alarm system)

ในมาตราฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ของ วสท. (EIT-2002-49) เขียนไว้ว่า....

9.11.2.4) สถานที่ดังต่อไปนี้ ต้องใช้สายทนไฟ
(ก) สายในช่องเปิดแนวดิ่ง (Shaft)
(ข) สายระหว่างแผงควบคุมกับอุปกรณ์แจ้งเหตุ
(ค) สายระหว่างแผงควบคุมกับระบบต่างๆในข้อ 2.5)
ยกเว้น...พื้นที่ ที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

*** สายทนไฟที่ใช้ต้องมีพิกัดทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 750 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ตามาตรฐาน IEC-331,BS-6387,AS-3013 หรือมีวิธีการอื่นที่ทำให้มีคุณสมบัติการทนไฟเทียบเท่า ***

ข้อ 2.5) กล่าวถึงระบบป้องกันอัคคีภัย
2.5.1. ระบบดับเพลิงด้วยสารดับเพลิงพิเศษ (Gas,Foam, DRY Chemical CO2 or N2 System)
2.5.2. ระบบลิฟต์ (Elevator System)
2.5.3. ระบบพัดลมอัดอากาศ (Pressured Fan System)
2.5.4. ระบบดับเพลิง (Fire Pump System)
2.5.5. ระบบควบคุมควันไฟ (Smoke Control System)
2.5.6. ระบบปิดประตู แผงกั้นไฟ และระบบปลดล๊อกประตู (Electromagnetic Door Holder System)

(หากอาคารมีระบบเหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วย)



บทความนี้ทั้งหมดคัดลอกมาจาก
Page ห้องไฟฟ้า