วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำไมสนามแม่เหล็กจึงรบกวนการทำงานบนจอคอมพิวเตอร์ ?

ทำไมสนามแม่เหล็กจึงรบกวนการทำงานบนจอคอมพิวเตอร์ ?



- เส้นที่เป็นคลื่นและภาพที่สั่นพลิ้วบนจอคอมพิวเตอร์นั้นเป็นอาการที่สนามแม่เหล็กของหลอดภาพถูกรบกวนจากสนามแม่เหล็กภายนอก สนามแม่เหล็กสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ดังนั้นสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและการส่งจ่ายไฟฟ้า รวมถึงระบบไฟฟ้าภายในอาคารล้วนเป็นแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กที่สามารถทำให้เกิดอาการสั่นพลิ้วของภาพบนจอคอมพิวเตอร์ชนิดหลอดภาพ CRT ได้ทั้งสิ้น โดยทั่วไปสนามแม่เหล็กจะต้องมีค่ามากกว่า 10 mG จึงจะทำให้เกิดการสั่นพลิ้วของภาพบนจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของจอภาพ โดยจอภาพขนาดใหญ่ (วัดเส้นทแยงมุมของจอภาพหน่วยเป็นนิ้ว) จะมีความอ่อนไหวต่อสนามแม่เหล็กมากกว่าจอภาพขนาดเล็ก นั่นหมายถึงจอภาพขนาดใหญ่จะถูกรบกวนได้ง่ายกว่า

- หากภาพบนจอคอมพิวเตอร์มีอาการสั่นพลิ้วจะแก้ไขอย่างไร…ก่อนอื่นต้องพยายามหาแหล่งกำเนิดหรือตัวสร้างสนามแม่เหล็กที่ทำให้เกิดการสั่นพลิ้วโดยการปิดไฟแสงสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ทีละอย่างและให้สังเกตอาการสั่นพลิ้วที่เปลี่ยนไป ในกรณีที่เป็นตัวสร้างสนามแม่เหล็กเมื่อปิดแล้วอาการสั่นพลิ้วจะลดลงเมื่อหาแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กที่ทำให้เกิดการสั่นพลิ้วได้แล้ว วิธีการแก้ไข อย่างแรกคือ ให้พยายามย้ายจอคอมพิวเตอร์หรือแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กอย่างใดอย่างหนึ่งให้ห่างจากกันจนกว่าอาการสั่นพลิ้วจะหมดไป ซึ่งในบางกรณีสามารถแก้ไขอาการสั่นพลิ้วได้โดยง่ายด้วยการเปลี่ยนทิศทางการวางจอภาพ (หมุนจอภาพ)

- ถ้าแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กเกิดจากระบบแสงสว่าง ซึ่งส่วนมากมักจะมาจากบัลลาสต์ชนิดขดลวดแกนเหล็ก ในกรณีนี้การเปลี่ยนบัลลาสต์จากชนิดขดลวดแกนเหล็กเป็นบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์สามารถลดสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นและช่วยแก้ไขอาการสั่นพลิ้วของภาพบนจอได

- ในกรณีที่จอภาพและแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไม่สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งการวางได้ การปรับความถี่การสแกนหรือการกวาดภาพในแนวตั้ง (Refresh rate) ให้มีค่าสูงกว่า50 Hz มากๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขอาการสั่นพลิ้วของภาพบนจอได้ เช่น ปรับเป็น 75 Hz หรือ 85 Hz ความถี่ในการสแกนนี้สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนได้โดยเข้าไปที่ Display Properties เลือกเมนู Setting คลิกที่ปุ่มAdvanced เลือกเมนู Monitor แล้วเลือกค่าความถี่ในการสแกนที่ต้องการในส่วนของMonitor Setting (สำหรับ Microsoft Window) ในบางครั้งการปรับความถี่ในการสแกนก็ไม่สามารถแก้ไขอาการสั่นพลิ้วของภาพบนจอได้เนื่องจากสนามแม่เหล็กอาจมีค่าสูงมากในบริเวณนั้น

- กรณีที่ตรวจพบว่าแหล่งกำเนิดหรือตัวสร้างสนามแม่เหล็กรบกวนมาจากสายตัวนำของการไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ของการไฟฟ้าหรือมาจากอาคารข้างเคียงให้ปรึกษาหรือแจ้งการไฟฟ้าในเขตพื้นที่เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป

- มาตรการสุดท้ายในการแก้ไขอาการสั่นพลิ้วของภาพบนจอคอมพิวเตอร์ คือ การกำบังหรือชี ลด์ ( Shield )จอคอมพิวเตอร์หรือบริเวณพื้นที่ใช้งาน ด้วยวัสดุชีลด์ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มีคุณสมบัติพิเศษในการกำบังสนามแม่เหล็ก เช่น แผ่นเหล็กที่ใช้ทำแกนของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง เป็นต้น การใช้วัสดุชีลด์สามารถลดทอนหรือป้องกันการรบกวนจากสนามแม่เหล็กได้

- การหลีกเลี่ยงการรบกวนของสนามแม่เหล็ก บนจอคอมพิวเตอร์จากระบบส่งจ่ายไฟฟ้า ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์ใกล้แนวสายไฟฟ้าของการไฟฟ้า หรือ ควรใช้งานห่างจากแนวสายของการไฟฟ้าเป็นระยะประมาณ 5 ถึง 15 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของสายไฟฟ้าหากมีความจำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กรบกวน ควรเลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ที่เป็นจอภาพชนิด LCD แทนจอชนิดหลอดภาพ CRT เนื่องจากสนามแม่เหล็กไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของจอภาพชนิดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น